Home & NewsHistoryDhamma AreeKai-U Luck KidDhamma's WebboardContactDhamma Cartoon
 
 
MP3VDOsPDF  




หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต
  ๓๑. "หลวงปู่มั่นวิสัชนา ความต่างระหว่าง ความรัก กับ เมตตา" แนะนำโดย พี่หนูเล็ก ณัฐนิชา (๘ ต.ค. ๒๕๕๔)

      มีอีเมล์เวียนส่ง (forwarding Email) จากพี่หนูเล็ก ณัฐนิชา มาอีกแล้วครับ อ่านแล้วรู้สึกดีจัง เพราะ "ความรัก" เป็นสิ่งที่มนุษย์ทุกๆ คนล้วนแสวงหา แต่กลับชอบเหมารวมๆ กันว่า สิ่งที่ทำลงไปนั้น เป็นความ "เมตตา" แต่จริงๆ แล้วเป็นการกระทำด้วย "ตัณหา" อย่างหนึ่ง (เบื้องหลัง คือ ต้องการเอาเข้าตัว ครอบครอง ผูกพันด้วยวิธีการผูกมัด) ไม่ใช่ความเมตตาอย่างแท้จริง คำตอบนี้หลวงปู่มั่น ได้อธิบายไว้อย่างกระจ่างชัดแล้วครับ ในบทความนี้

     ช่วงนี้ผมห่างหายจากการอัพเดทเว็บนี้ไปนานทีเดียว เหตุเพราะมีภาระกิจอีรุงตุงนังตามประสาฆราวาส (แปลว่า ผู้ครองเรือน ผู้ยังเกี่ยวข้องหรือหมกมุ่นด้วยกาม) และยังต้องดูแลเว็บส่วนตัวอีกหลายแห่งด้วย แต่ถ้าหากมีเรื่องอะไรน่าสนใจแว้บผ่านเข้ามาอีก ก็จะอัพให้ได้อ่านกัน เพื่อเป็นบรรณาการแก่ผู้ที่สนใจธรรมะทุกท่านนะครับ

พ่อไก่อู
 
หลวงปู่มั่นวิสัชนา ความต่างระหว่าง ความรัก กับ เมตตา

ถาม : เมตตา กรุณา กับรัก นั้น เหมือนกันหรือต่างกัน.?

ตอบ : ต่างกันมาก อย่างละ "อริยสัจ" ทีเดียว ความรักนั้นเป็น "สมุทัย" (เหตุให้เกิดทุกข์) เมตตานั้นเป็น "มรรค" (หนทางสู่ความดับทุกข์)

ถาม : เช่นรักบุตรหลาน ญาติมิตร คิดให้เป็นสุขและให้พ้นทุกข์ หรือสงสาร จะว่าเป็นสมุทัยได้อย่างไร รู้สึกรสชาติของใจประกอบด้วยความเอ็นดูปราณี

ตอบ : ความรักและความสงสารบุตรหลานญาติมิตร ประกอบด้วย "ฉันทราคะ" อาลัยห่วงใย กังวล พัวพัน ยึดถือ หนักใจไม่โปร่ง เมื่อคนรักเหล่านั้นวิบัติไป เช่น ตาย เป็นต้น ก็เกิดทุกข์โทมนัส เศร้าโศกเสียใจ อาลัยคิดถึง ถ้ารักมากก็โศกมาก สมด้วยพระพุทธสุภาษิตคาถาธรรมบท ปิยวรรคที่ ๑๖ ว่า

เปมโต ชายเต โสโก : ความโศกย่อมเกิดแต่ความรัก
เปมโต ชายเต ภยํ : ภัยย่อมเกิดแต่ความรัก
เปมโต วิปฺปมุตฺตสฺส : ความโศกไม่มีแก่ผู้พ้นแล้ว
นตฺถิ โสโก กุโต ภยํ : จากความรัก ภัยจะมีมาแต่ที่ไหน

เพราะฉะนั้น จึงผิดกับ "เมตตา กรุณา"

ส่วน "รัก" นั้นมีความชอบ และสงสารบุตรหลานญาติมิตร ไม่ทั่วไปในสัตว์ทั้งหลายทั้งปวง เป็นแต่ พรหมวิหาร (พรมหมวิหาร ๔ ประกอบด้วย เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา)

ส่วน "เมตตา กรุณา" (โดยเฉพาะ) ที่เป็น "อัปปมัญญา" (แปลว่า ธรรมที่แผ่ออกไปในสัตว์แลมนุษย์ทั้งหลาย อย่างมีจิตใจสม่ำเสมอทั่วกัน ไม่มีประมาณ ไม่จำกัดขอบเขต) นั้น ทั่วไปในสัตว์ ไม่มีประมาณ และไม่ประกอบด้วย ความห่วงใยอาลัย พัวพัน ยึดถือ มีความโปร่ง และเบาใจไม่หนัก มีจิตเย็นเป็นสุข และเป็นข้าศึกแก่พยาบาทโดยตรง และได้รับอานิสงส์ ๑๑ ประการด้วย ตามแบบที่ท่านแสดงไว้ใน เมตตานิสังสสูตร ว่า

๑. สขํ สุปติ : หลับก็เป็นสุข
๒. สุขํ ปฏิพุชฺฌติ : ตื่นก็เป็นสุข
๓. น ปาปกํ สุปินํ ปสฺสติ : ย่อมไม่ฝันเห็นลามก
๔. มนิสฺสานํ ปิโย โหติ : ย่อมเป็นที่ชอบใจของมนุษย์ทั้งหลาย
๕. อมนุสฺสานํ ปิโย โหติ : ย่อมเป็นที่ชอบใจของอมนุษย์ทั้งหลาย
๖. เทวตา รกฺขนฺติ : เทวดาทั้งหลายย่อมรักษา
๗. นาสฺส อคฺคิ วา วิสํ : ไฟหรือยาพิษหรือศัสตรา,
    วา สตฺถํ วา กมต : ย่อมไม่ต้องผู้เจริญเมตตานั้น
๘. ตุวฏํ จิตฺตํ สมาธิยติ : จิตของผู้เจริญเมตตาย่อมมั่นเป็นสมาธิเร็ว
๙. มุขวณฺโณ วิปฺปสีทติ : สีหน้าของผู้เจริญเมตตาย่อมผ่องใส
๑๐. อสมฺมูโฬฺห กาลํ กโรติ : ย่อมไม่มีสติหลงตาย
๑๑. อุตฺตริ อปฺปฏิวิชฺณนฺโต : เมื่อยังไม่สำเร็จพระอรหันต์อันยิ่ง,
      พฺรหฺมโลกุปฺโค โหติ : ย่อมไปเกิดในพรหมโลก

ที่มา : ตัดตอนมาจาก ปฏิปัตติวิภังค์ จากหนังสือ ธัมมานุธัมมปฏิบัติ โดย พระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถร จัดพิมพ์โดย ชมรมพุทธศาสน์ การไฟฟ้าแห่งประเทศไทย
หมายเหตุ : ในวงเล็บ เป็นคำขยายความเพิ่มเติมโดย พ่อไก่อู
 
    กลับด้านบน
  Create and Maintained by JitdraThanee Copyright © 2008-2014 All Rights Reserved. Best viewed 1280x800 pixels.  
start Histats: 29 Aug.2010