Home & NewsHistoryDhamma AreeKai-U Luck KidDhamma's WebboardContactDhamma Cartoon
 
 
MP3VDOsPDF  




พระชยสาโร (Chayasaro Bhikkhu)
  ๕. ลองถามตนเองซิว่า..ความสุขคืออะไร? (ท่านชยสาโรภิกขุ) แนะนำโดย หมอโจ๋ บัณฑิต (๑๕ ก.ย. ๒๕๕๑)

      หลายวันก่อน ผมได้รับอีเมลแบบเวียนส่ง (forwarding Email) จากหมอโจ๋ (นพ.บัณฑิต หิรัญชูสกุล) เพื่อนสหธรรมมิก ที่รู้จักกันในสถานที่แสดงธรรมของ พระอาจารย์ปราโมทย์ ดูจากหัวเรื่องในอีเมลเห็นว่าเป็นธรรมเทศนาของ ท่านชยสาโรภิกขุ (ท่านเป็นฝรั่งที่บรรพชาในสายพระป่า หลวงปู่ชา สุภทฺโธ)

      ผมอ่านดูแล้วเนื้อหาโดนใจ ท่านชยสาโร วิจารณ์สังคมไทยในปัจจุบันนี้ ได้อย่างตรงไปตรงมา และยังแนะแนวทางแสวงหาความสุขที่แท้จริง ตามที่พระพุทธเจ้าทรงชี้แนะไว้ ไม่ใช่ความสุขแบบจอมปลอม ที่ผู้คนจำนวนมากวิ่งวุ่นไขว่คว้ากันอย่างมืดบอด ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้สังคมวุ่นวายทุกวันนี้

      ก็เลยนำมาแบ่งปันให้อ่านกันครับ แต่สำหรับท่านที่สนใจคำสอนของ ท่านชยสาโร เพิ่มเติม สามารถเสิร์จหาได้ (คีย์ชื่อท่านในเว็บ Google นะครับ) ซึ่งคณะศิษย์นำออกเผยแพร่ทางอินเทอร์เน็ต ในหลายรูปแบบครับ มีทั้งไฟล์ MP3 (สำหรับฟัง) และไฟล์ PDF (สำหรับอ่าน) ครับ

พ่อไก่อู
ลองถามตนเองซิว่า..ความสุขคืออะไร? : ชยสาโรภิกขุ

      อาตมาเคยเห็นการ์ตูนรูปหนึ่ง เป็นภาพทหารเบาปัญญาอยู่ท่ามกลางสนามทุ่นระเบิด เขาถือเครื่องตรวจสอบทุ่นระเบิด แต่กลับค่อยๆ เดินถอยหลัง คนจำนวนไม่น้อยก็พยายามดับเหตุให้เกิดทุกข์ทำนองนั้นเหมือนกัน เครื่องอุปกรณ์ คือ คำสอนของพระพุทธเจ้ามีพร้อมแต่ใช้ไม่ถูก

พันกว่าปีก่อนที่คำว่า "มีดโกนอาบน้ำผึ้ง" จะถูกใช้เรียกฝีปากนักการเมือง โบราณาจารย์ท่านเคยใช้คำว่า "น้ำผึ้งอาบมีดโกน" โดยหมายถึง ความสุขทางเนื้อหนัง ใครหลงใหลความสุขประเภทนี้ ท่านเปรียบเทียบเป็นผู้กำลังเลียน้ำผึ้งที่อาบมีดโกนอยู่ สมัยนี้คนลิ้นถูกบาดมีอยู่เต็มบ้านเต็มเมือง แต่คนเข็ดหลาบหายาก อะเมซิ่งเหมือนกัน

      ทุกวันนี้เราชอบส่ายหัว บ่นกันถึงเรื่องสังคมปัจจุบันว่า..ยุคนี้เป็นยุคที่คนเห็นแก่ตัวเหลือเกิน เอาแต่ใจตนเอง หรือหาแต่ผลประโยชน์ส่วนตัวถ่ายเดียว คนแก่มักจะเติมว่าไม่เหมือนสมัยก่อน สมัยก่อนคนไทยยังมีน้ำใจต่อกันดี เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เดี๋ยวนี้เอาแต่ตัวใครตัวมัน อาตมาไม่แก่เท่าไร ก็ยังชอบมองแบบนั้นบ้างเหมือนกัน แต่อาตมาได้สังเกตสิ่งที่น่าตลก (ร้าย) อย่างหนึ่งนั่นคือทั้งๆ ที่การช่วงชิงแก่งแย่งกันในสังคมเพิ่มทวีขึ้น เหมือนกับความสุขมีจำกัด ใครไม่รีบคว้าเอาจะเสียเปรียบ แต่ขณะเดียวกันนั้น คนส่วนใหญ่กลับทำในสิ่ง ที่ไม่นำไปสู่ความสุขที่ตนต้องการ และทำสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์แก่ตนเองอยู่เรื่อย เขาจึงยิ่งทุกข์มากกว่าคนในยุคสบายๆ ที่คนไทยยังเป็นฝ่ายบุญนิยมกันอยู่ เป็นเพราะอะไร? ถ้าไม่ใช่การประชดตัวเอง ก็น่าจะต้องสรุปว่าพวกเราสุขไม่ค่อยเป็น

ดูเหมือนกับว่าระบบการศึกษาของตะวันตก ซึ่งแพร่หลายถึงเมืองไทยมาหลายสิบปีแล้ว ได้สร้างคนรู้มากไว้มาก สร้างคนเข้าใจมากไว้น้อยในหมู่คนไทย ปัญญาในเรื่องคุณภาพชีวิต ความเข้าใจในสิ่งที่สำคัญที่สุดของมนุษย์ คือ ธรรมชาติของความสุขและความทุกข์ น่ากลัวได้ลดน้อยลง คนสมัยนี้สมองใสก็จริงแต่ตาถั่ว

      มนุษย์เป็นสัตว์เจ้าปัญหาเพราะขาดเชาวน์ ด้อยปัญญาที่แท้จริง เกลียดทุกข์รักสุข ทะเยอทะยานดิ้นรนแทบตาย เพื่อสิ่งที่ตนเองเชื่อว่าเป็นสุข แต่ไม่เคยใคร่ครวญว่าความสุขคืออะไรกันแน่ สิ่งที่เราต้องการเดี๋ยวนี้ หรือทุกวันนี้ จะให้ความสุขแก่เราจริงอย่างที่คิดหรือไม่ มากน้อยแค่ไหน จะมีผลกระทบต่อคนอื่น และต่ออนาคตของเราอย่างไรบ้าง ความทุกข์ที่เราเกลียด และกลัวที่สุดนั้นเกิดจากเหตุปัจจัยอะไรบ้าง ทุกวันนี้เราแก้ถูกวิธีหรือไม่ มนุษย์อยากสุขแต่ไม่รู้จักสุข อยากหนีทุกข์แต่ไม่รู้จักทุกข์ สุ่มสี่สุ่มห้าเดินคลำไปคลำมาในความมืด เอาความหวังในความสุขข้างหน้าเป็นที่ปลอบใจ บางคนอ้อนวอนสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้ช่วยเนรมิตให้ ความมืดกลายเป็นความสว่าง แต่พระพุทธศาสนาสอนว่า โยม มันสว่างอยู่แล้ว ไม่ต้องไปบนบานศาลกล่าวที่ไหนหรอก ลืมตาก็จะเห็นเอง

      สิ่งแรกที่ผู้ต้องการชีวิตที่ดีงามควรกระทำ คือฝึกให้หยุดจากการกระเสือกกระสนสักพักหนึ่ง ลืมหูลืมตาขึ้นพิจารณาความเป็นมนุษย์ของเรา ว่าเราเกิดมาทำไม อะไรคือสิ่งที่สูงสุดที่เราควรจะได้จากชีวิต เราควรจะให้อะไรไว้กับโลกนี้ คำถามเหล่านี้สำคัญ แต่อย่าเชื่อคำตอบใครง่ายๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อย่างมงายตามพวกวัตถุนิยมจะเสียคน จงหาคำตอบของตนเองด้วยสติ ปัญญา และความจริงใจ

      ความรู้ความเข้าใจอันถูกต้องในเป้าหมายของชีวิต และวิธีการที่จะเข้าถึงเป้าหมายนั้น พระพุทธองค์ทรงเรียกว่า สัมมาทิฐิ ผู้ที่มุ่งจะประสบความสำเร็จอย่างแท้จริงในสิ่งที่ดีงาม จะขาดสัมมาทิฐิไม่ได้ เพราะคนเราถ้าคิดผิดแล้ว การกระทำ และคำพูดทุกอย่างย่อมพลอยผิดไปด้วย จิตก็พาลพาไปหาผิดอยู่ร่ำไป

ในเบื้องต้น หนทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์เสวยสุขที่แท้จริงนั้น เริ่มด้วยทิฐิระดับความเชื่อถือ ค่านิยม แนวความคิดซึ่ง หนึ่ง ไม่นำไปสู่การเบียดเบียนตนหรือผู้อื่น เช่น กินเพื่ออยู่ไม่ใช่อยู่เพื่อกิน ถือการรักษาศีลห้าเป็นมาตรฐานชีวิต และสอง ลงรอยกับความจริงของธรรมชาติ เช่น เรามีกรรมเป็นของๆ ตน การละกิเลสนำสุขมาให้ การพ้นทุกข์ไม่พ้นสมัย สำหรับผู้ปฏิบัติใหม่ๆ ท่านจึงเน้นในการปรับทิฐิ ให้สอดคล้องกับความดีและความจริง

      ตรงนี้แหละที่น่าจะเป็นจุดอ่อนของพระพุทธศาสนาในเมืองไทยทุกวันนี้ คือ เราได้เน้นเรื่องของการทำทานมากเกินไปหรือเปล่า? เน้นจนละเลยในการเสริมสร้างสัมมาทิฐิ คือแนวการมองความหมายของชีวิตและโลก ความเข้าใจในเป้าหมายชีวิตของมนุษย์ ความหมายของคำว่า ดี ชั่ว บุญ บาป ความเข้าใจว่า อะไรคือพฤติกรรมที่นักปราชญ์สรรเสริญ อะไรคือพฤติกรรมที่ผู้รู้ตำหนิ และที่สำคัญอย่างยิ่งคือ ความเข้าใจในเรื่องความสุขและความทุกข์ ในสมัยนี้ดูเหมือนว่าความเข้าใจของคนทั่วไปในสิ่งเหล่านี้ ค่อนข้างพร่ามัว คนไม่เข้าใจคำสอนของพระพุทธศาสนา ก็ย่อมไม่ได้รับประโยชน์เท่าที่ควร แล้วอย่างนี้จะเป็นความผิดของศาสนาหรือ ใครอยู่ใกล้เกลือแล้วอยากกินด่างก็เป็นเรื่องสิทธิมนุษยชน แต่ปัญหาต่างๆ มักจะเกิดขึ้นในสังคม เมื่อผู้กินด่างหลงเชื่อกันว่าด่างคือเกลือ จึงมักบ่นว่าทุกวันนี้เกลือไม่เค็มจริง

เรามีวัดนับหมื่น มีพระภิกษุสามเณรนับแสนก็จริง แต่ถ้าหากว่าเราไม่เอาใจใส่ในแนวความคิดของชาวพุทธ ไม่ชี้แจงและเผยแพร่คำสอนที่เกี่ยวกับเป้าหมายชีวิต ไม่อธิบายว่าความคิดอย่างไรเข้าได้และเข้าไม่ได้กับหลักพุทธธรรม ก็น่าเป็นห่วงอย่างยิ่งว่าพระบวรพุทธศาสนาของเรา จะกลายเป็นต้นโพธิ์ที่ยืนต้นตายในอนาคตอันไม่ไกล

      ทุกวันนี้ปรากฏว่ามีชาวพุทธมากมายที่ถือว่าความร่ำรวย การมีอำนาจ ชื่อเสียง ยศฐาบรรดาศักดิ์ ความพรั่งพร้อมด้วยวัตถุ คือยอดความสุขของฆราวาส ความคิดอย่างนี้ท่านเรียกว่า มิจฉาทิฐิ เพราะจะเป็นเหตุของการประพฤติที่เป็นพิษเป็นภัยแก่ตนเอง ต่อสังคม และต่อสิ่งแวดล้อม มันไม่เป็นความจริง ความสุขดังกล่าวเป็นแค่ความสุขระดับล่าง ย่อมมีทุกข์ไม่มากก็น้อยเจือปนอยู่เสมอ สังคมใดที่เต็มไปด้วยความฟุ่มเฟือยฟุ้งเฟ้อ นิยมการอวดฐานะ บ้ายี่ห้อ ให้เกียรติคนรวยโดยไม่สนใจว่ารวยมาอย่างไร สังคมที่ถือว่า การเป็นเจ้าคนนายคน คือการประสบความสำเร็จในชีวิตเรียบร้อยแล้ว (โดยไม่พิจารณาความประพฤติ) หรือที่ถือว่าผู้เป็นใหญ่เป็นโตแล้ว ไม่ต้องปฏิบัติตามกฎของสังคมเหมือนคนธรรมดา สิ่งเหล่านี้ล้วนแสดงอาการของสังคมที่วิปริตทางทิฐิคือ คิดผิดทั้งสิ้น

คนเรามองอะไรว่า ว่าเป็นความสุขก็ต้องแสวงหาสิ่งนั้น ถ้าเราต้องการเปลี่ยนพฤติกรรมของคนหรือตัวเราเอง ให้สร้างสรรค์กว่าที่กำลังเป็นอยู่ในปัจจุบัน เราต้องทำความเข้าใจในเรื่องความสุขให้ชัดขึ้น ใครไม่เห็นว่าตนเองมีความทุกข์อะไรที่จะต้องดับก็ไม่เป็นไร แต่ขอให้ทุกคนหาความสุขที่ดีกว่าก็นับว่ายังใช้ได้

ฉะนั้น ลองถามตนเองซิว่าความสุขคืออะไร? อะไรคือสิ่งที่เราต้องการมากที่สุดในชีวิต? เวลาเราสวดมนต์ว่า "อะหัง สุขิโต โหมิ" ขอให้ข้าพเจ้าจงมีความสุขๆ เถิด หรือ "สัพเพ สัตตา สุขิตา โหนตุ" ขอให้สรรพสัตว์ทั้งหลายจงถึงความสุขๆ เถิด ความสุขที่เราหวังที่เราอยากได้นั้นคืออะไร? ความสุขที่เราอยากให้สรรพสัตว์ทั้งหลายคืออะไร? มันน่าคิดนะ ถ้าคำตอบยังเป็นเรื่องกิน กาม เกียรติ นับว่าเรายังไม่เป็นมิตรแท้ของตนเอง และของเพื่อนร่วมโลกเพราะความคิดยังต่ำไป

      ทุกคนในโลกนี้ล้วนแต่ต้องการความสุขเพราะอะไร? เพราะทุกคนรู้สึกว่ายังได้ไม่พอ ที่เคยได้แล้วก็ดีอยู่แต่ยังไม่ดีที่สุด ความสุขที่เคยได้ พอผ่านไปแล้วก็เหลือแต่ความทรงจำที่หวานชื่น (กว่าของจริง) จึงอยากได้อีก ทางพระเขาบอกว่าจิตใจของผู้ที่ยังไม่เข้าถึงธรรม มีความพร่องอยู่เป็นนิจ หิวอยู่ตลอดเวลา สังคมเราไม่เห็นโทษของการฝากความหวังไว้กับความสุขประเภทนี้ ทั้งๆ ที่ครูบาอาจารย์ได้เตือนอยู่เสมอ แต่ไหนแต่ไรมา จึงกลายเป็นสังคมปากอ้า เต็มไปด้วยมนุษย์ที่วิ่งตามล่าหาความรู้สึกชั่วแวบอยู่อุตลุต นับถือพระพุทธศาสนาอยู่บางทีห้อยพระเต็มคอ แต่ในชีวิตจริงกลับนับเงินและถือสากันมากกว่า ยึดเอาอารมณ์ยินดียินร้ายในทรัพย์สินและอัตตาเป็นหลักชีวิต ต่อไปพวกนี้อาจจะต้องขอพึ่งพระรัตนตรัยใหม่ที่ไม่เป็นศรี คือ

รักชัง สรณัง คัจฉามิ • สตางค์ สรณัง คัจฉามิ • โอหัง สรณัง คัจฉามิ (ทุติยัมปิ...ตติยัมปิ...)

      เมื่อเราไม่เข้าใจธรรมชาติของตนเอง ไม่เข้าใจธรรมชาติของโลก ตัณหาก็จะเป็นผู้สนตะพาย โดยเราหลงหวังไปว่าโลกจะให้สิ่งที่ จริงๆ แล้วโลกให้เราไม่ได้ คือ ความสุขที่ไม่รู้โรย ความสุขที่ยืนยงคงกระพัน แต่สัจธรรมความจริงที่ปุถุชนไม่อยากรับรู้ คือ สิ่งที่เราจะได้จากโลกมีแค่ความสุขแบบกระตุ้นประสาท หรือบำเรออัตตาเท่านั้น

กายและใจของเราจะมีความสุขกับการกระตุ้นประสาทมากไม่ได้ มันจะเหนื่อย อีกทั้งถ้ากระตุ้นบ่อยประสาทก็เริ่มด้าน จึงต้องเพิ่มอัตราและความเข้มของการกระตุ้นอยู่เรื่อยๆ ความสุขทางเนื้อหนังจึงย่อมกระท่อนกระแท่นเป็นธรรมดา พ้นการขึ้นๆ ลงๆ ไม่ได้ น้อยคนเหลือเกินสนใจจะหยุดทบทวน หรือคิดพิจารณาว่าความสุขที่อยากได้คืออะไร ชีวิตของมนุษย์จึงหนีไม่พ้นความผิดหวัง ปัญหาในโลกหลายๆ อย่าง ไม่ว่าปัญหาภายในจิตใจของคนเรา ปัญหากับคนรอบข้าง หรือปัญหาในสังคมทั่วไป เกิดจากการหวังความสุขที่ถาวรจากสิ่งที่ไม่ถาวร เมื่อไม่ได้สมหวังก็ระทมขมขื่น สมหวังแล้วก็ต้องพลัดพรากจากสิ่งที่ตนยึดติด ก็เศร้าโศกหรือกลัดกลุ้ม

      พระพุทธองค์ตรัสว่า ความสุขมีหลายอย่าง นอกจากความสุขสามัญแล้ว ทุกคนไม่ว่านักบวชหรือผู้ครองเรือน ควรหาความสุขที่เกิดจากคุณงามความดี และความสุขอันประเสริฐที่เกิดจากการเป็นอิสระจากกิเลส จะได้มากน้อยแค่ไหนก็ไม่ต้องกังวล เพียงแค่ความพยายามที่จะสร้างความสุขประเภทนี้ ก็ทำให้ชีวิตมีคุณภาพอย่างน่าภาคภูมิใจแล้ว

ผู้ที่ได้รับความสุขประเภทที่สองและสามในระดับใดระดับหนึ่งเท่านั้น จึงจะมีโอกาสดับความหิวโหย หรือความอ้างว้างว้าเหว่ในใจได้ อาตมาเชื่อว่าลึกๆ แล้ว ทุกคนต้องการความสุขอันเยือกเย็น ที่เกิดจากความดี ความสงบ และปัญญา เพียงแต่ว่ายังไม่รู้ตัว การหวังความสุขที่มั่นคงเป็นที่พึ่งได้ ส่อให้เห็นถึงความต้องการเช่นนี้ ทำไมเราจึงต้องการความสุขที่ไม่เสื่อม? คำตอบน่าจะเป็นเพราะว่าในจิตใต้สำนึกแล้ว เรารู้ว่าตนเองมีสิทธิและมีศักยภาพพอที่จะได้ความสุขที่ถาวร พ้นความแตกสลาย

      น่าเสียดายว่านิทาน นิยาย เพลง ละคร ฯลฯ พากันล้างสมองเราว่า สิ่งเดียวที่จะให้ความสุขอย่างนี้แก่เราได้ คือ ความรัก คนหนุ่มสาวจึงสัญญากันว่า จะรักกันจนดินฟ้าทลาย แต่ความจริงปรากฏว่า ความรักอมตะของหลายๆ คู่ แต่งงานกันไม่กี่ปี หรือไม่ทันถึงปีก็ร่อแร่เต็มที ดินฟ้ายังคงเดิม อารมณ์ทลายไปก่อน

      องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอนให้เราเข้าใจตนเอง พระองค์ชี้แจงเปิดเผยธรรมชาติของกาย ธรรมชาติของใจ ธรรมชาติของความทุกข์และความสุข ถ้าจะให้พุทธธรรมเป็นศาสตร์ ก็ต้องเป็นสุขทุกขศาสตร์ ศาสตร์อื่นทั้งหมดเป็นแค่บริวารของศาสตร์นี้เท่านั้น หากขาดพุทธศาสตร์เป็นหลักเป็นฐานเสียแล้ว ศาสตร์ทางโลกย่อมเป็นดาบสองคมทั้งสิ้น

      พระพุทธองค์ทรงสอนวิธีดับทุกข์ หาสุขที่ถูกต้องและได้ผล ส่วนเรื่องสวรรค์นรก ชาติก่อน ชาติหน้า เชื่อได้ก็เป็นบุญ ยังไม่เชื่อก็ไม่เป็นไร ค่อยเอาไว้คุยทีหลัง สิ่งที่เป็นแก่นแท้ของพุทธธรรมคือ เรื่องภพนี้และชาตินี้ พระองค์ตรัสว่า โดยปกติชีวิตของมนุษย์ไม่เป็นสุข เพราะหลงยึดมั่นถือมั่นในสิ่งต่างๆ ว่าเป็นเรา เป็นของเรา การฝึกให้เห็นสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง ถอดถอนอุปทานจนจิตเป็นอิสระพ้นการบีบคั้นของกิเลส คือการเข้าถึงความสุขที่แท้จริง ในสายตาของนักปราชญ์ เมื่อเปรียบเทียบแล้ว ความสุขอย่างอื่นก็เป็นเหมือนของเด็กเล่น

หลักการสำคัญจึงอยู่ที่การระงับกิเลสด้วยการควบคุม กาย วาจา (ศีล) การพัฒนาคุณธรรม เช่น ความอดทน ความขยัน ความเมตตากรุณา ความสงบ (สมาธิ) และการพิจารณาสิ่งที่มากระทบให้เห็นความไม่คงที่ ไม่คงตัว ไม่เป็นตัวหรือของตัว (ปัญญา)

      พระพุทธศาสนายอมรับความสุขที่เกิดจาก ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ว่าเป็นของจริง แต่เตือนว่าอย่าสำคัญมั่นหมายจนเกินไป เพราะถึงแม้เผินๆ จะดูว่าดี แต่ความจริงมันไม่ดีอย่างที่คิด รูปอาจดูสวยแต่ไกล แต่พอเข้าใกล้สัมผัสจริงๆ แล้วก็จูบไม่หอม ฉะนั้น อย่าหลับหูหลับตาเก็บกด หรือพยายามหันหลังให้ข้อบกพร่องของมัน มองเห็นแต่ด้านดี จนหลงใหลหมกมุ่น และถึงกับกล้าผิดศีลหรือผิดหลักธรรม เพื่อครอบครองสิ่งที่ตนอยากเหล่านั้น

เราต้องรู้เท่าทันความไม่แน่นอนของสังขารร่างกาย ความไม่แน่นอนของอารมณ์ ความไม่แน่นอนของคนรอบข้าง และของวัตถุที่เราอยู่อาศัย ความปลอดภัยไม่ได้เกิดจาก การบังคับให้ทุกสิ่งอยู่ใต้อำนาจหรือเป็นตามใจเรา หากเกิดจากการยอมรับความจริงของทุกสิ่ง และปฏิบัติต่อมันด้วยสติปัญญา ละสิ่งที่ควรละ บำเพ็ญสิ่งที่ควรบำเพ็ญตามความเหมาะสม

      ที่จริง การพิจารณาให้เห็นความไม่แน่นอนของชีวิต ไม่เหลือวิสัยของใคร แต่เราไม่ค่อยอยากทำเพราะกลัวจะเสียความรู้สึก กลัวชีวิตจะจืดชืด จะแห้งแล้ง พูดง่ายๆ ว่าเสียดายกิเลส ถ้าเราปฏิบัติธรรมแล้วสังเกตว่าหัวเริ่มหด เกิดความลังเลไม่มั่นใจ ขอให้ระลึกว่าครูบาอาจารย์ผู้ที่ข้ามพ้นไปแล้ว ท่านยืนยันเป็นเสียงเดียวกันว่า ไม่ใช่อย่างนั้น ถ้าละกิเลสแล้ว ชีวิตจึงจะสดชื่นเบิกบาน

       ธรรมะของพระพุทธเจ้าเป็นเอหิปัสสิโก คือชวนมาดู ทนต่อการพิสูจน์ ท่านไม่ต้องการให้เราเชื่ออะไรง่ายๆ ท่านต้องการให้เราเอาคำสอนไปดู เทียบเคียงกับชีวิตของเราว่าจริงไหม? อย่างเช่น ท่านสอนว่าทุกวันนี้เราเป็นทุกข์เพราะความยึดมั่นถือมั่น ความผูกพัน การหวังความสุขแต่จากสิ่งนอกตัว ยึดมั่นถือมั่นมากก็ทุกข์มาก ยึดมั่นถือมั่นน้อยก็ทุกข์น้อย ถ้าไม่ยึดมั่นถือมั่นเลยก็ไม่ทุกข์เลย คำสอนลักษณะอย่างนี้ไม่ใช่ทฤษฎีที่ผู้มีศรัทธาต้องเชื่อ หากเป็นเรื่องประสบการณ์ของมนุษย์แท้ๆ คำสอนของพระพุทธศาสนาล้วนแต่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของเราทุกคน เกี่ยวกับความสุข เกี่ยวกับความทุกข์ของมนุษย์.

 
    กลับด้านบน
  Create and Maintained by JitdraThanee Copyright © 2008-2014 All Rights Reserved. Best viewed 1280x800 pixels.  
start Histats: 29 Aug.2010