Baan Aree'26


Fun Learning traditional Thai designs with JitdraThanee's Logo

        'กฤษณ์' หนุ่มชลบุรี ศิษย์เก่าจากรั้ว มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา (โคราช) ผู้มีความใฝ่ฝันอยากให้ศิลปะไทยเป็นที่ต้องการของชาวโลก ส่งผลงานลายเส้นมาร่วมแสดงอีก ๑ ภาพครับ ระเบียง 'วาดเล่น ๆ กับ จิด-ตระ-ธานี' ยินดีที่ได้นำเสนอผลงานกฤษณ์ครับ

กฤษณ์ นาทีทิพย์ (กฤษณ์) , ๓๖ ปี
มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา , จ.ชลบุรี

แรงบันดาลใจ : มา คะ ชง สัตว์ในนิยายที่ผมแต่งขึ้น เอาไว้อ่านเอง เกิดจาก ฤาษี ๔ ตน นั่งบรรเพ็ญเพียร และได้เพ่งกสิณ ออกมาในเวลาเดียวกัน ทำให้กสิณของฤาษีทั้ง ๔ ตน มาชนกัน จึงเกิดสัตว์ที่มีการผสมของ กสิณทั้ง ๔ ชนิด ได้แก่ ปฐวีกสิณ เตโชกสิณ วาโยกสิณ และอาโปกสิณ จึงมีรูปร่างของกสิณทั้ง ๔ รวมกันอยู่ เป็นสัตว์กินพืช มีฤทธิ์ แต่ขาดเดช อาศัยอยู่ในชายป่าหิมพานต์ บริเวณสระอโนดาต

ส่งผลงานเมื่อ red arrow ๖ พ.ค. ๒๕๕๔)
 






Kris's portrait


 

23
12345678910111213141516171819202122232425262728


    อื้ม...วาดออกมาได้ดีครับ สวยดี หุ่นของม้าก็รูปร่างดีนะครับ สัดส่วนใช้ได้ มีกล้ามเนื้อแบบม้าจริงๆ เลย ส่วนลายไทยที่วาดประดับส่วนอื่นๆ ก็ดูดีครับ ใช้ได้เลยแหละภาพนี้ เห็นกฤษณ์เกริ่นๆ มาในคำบรรยายภาพเกี่ยวกับเรื่อง "กสิณ" หะๆ เข้าทางผมพอดี คราวนี้คงได้โม้ต่ออีกยาว (เผื่อคนอื่นๆ อยากรู้ด้วย..รึเปล่า.?) หลายคนอาจรู้จักกสิณในแบบต่างๆ แต่คราวนี้มารู้จักผ่านคำอธิบายของผมบ้างนะครับ

    กสิณ คือการเพ่งสิ่งใดสิ่งหนึ่ง จนจิตรวมเกิดเป็นสมาธิในระดับฌาน การเพ่งกสิณ เป็นสมถกรรมฐาน ชนิดหนึ่ง (จัดรวมอยู่ใน กองกรรมฐาน ๔๐ อย่าง) กสิณมีทั้งหมด ๑๐ กอง หรือ ๑๐ ชนิดดังนี้

    ๑). ปฐวีกสิณ : กสิณเพ่งดิน (*หากฝึกสำเร็จ จะแสดงฤทธิ์ได้ เช่น เนรมิตคนๆ เดียวให้เป็นหลายๆ คนได้ เนรมิตให้คนหลายๆ คน เป็นคนเดียวได้ ทำน้ำและอากาศให้แข็งได้)
    ๒). อาโปกสิณ : กสิณเพ่งน้ำ (ฤทธิ์ที่ได้ เช่น สามารถเนรมิตของแข็งให้อ่อนได้ เช่น อธิษฐานสถานที่ ที่เป็นดินหรือหรือหินที่กันดารน้ำให้เกิดบ่อน้ำได้ อธิษฐานหิน ดิน เหล็ก ให้อ่อนได้ อธิษฐานในสถานที่ขาดแคลนฝน ให้เกิดมีฝนอย่างนี้ เป็นต้น)
    ๓). เตโชกสิณ : กสิณเพ่งไฟ (ฤทธิ์ที่ได้ เช่น อธิษฐานให้เกิดเพลิงเผาผลาญ หรือให้เกิดแสงสว่างได้ ทำแสงสว่างให้เกิดแก่จักษุญาณ สามารถเห็นภาพต่างๆ ในที่ไกลได้คล้ายตาทิพย์ (ทิพยจักขุญาณ*) ทำให้เกิดความร้อนในที่ทุกสถานได้ เมื่ออากาศหนาว สามารถทำให้เกิดความอบอุ่นได้)
    ๔). วาโยกสิณ : กสิณเพ่งลม (ฤทธิ์ที่ได้ เช่น อธิษฐานจิตให้ตัวลอยตามลม หรืออธิษฐานให้ตัวเบา เหาะไปในอากาศก็ได้ สถานที่ใดไม่มีลม ก็อธิษฐานให้มีลมได้)
    ๕). นีลกสิณ : กสิณเพ่งสีเขียว (ฤทธิ์ที่ได้ เช่น สามารถทำให้เกิดสีเขียว หรือทำสถานที่สว่างให้มืดครึ้มได้)
    ๖). ปีตกสิณ : กสิณเพ่งสีเหลือง (ฤทธิ์ที่ได้ เช่น สามารถเนรมิตสีเหลือง หรือสีทองให้เกิดได้)
    ๗). โลหิตกสิณ : กสิณเพ่งสีแดง (ฤทธิ์ที่ได้ เช่น สามารถเนรมิตสีแดงให้เกิดได้ตามความประสงค์)
    ๘). โอทากสิณ : กสิณเพ่งสีขาว (ฤทธิ์ที่ได้ เช่น สามารถเนรมิตสีขาวให้ปรากฏ และทำให้เกิดแสงสว่างได้ เป็นกรรมฐานที่อำนวยประโยชน์ในทิพยจักขุญาณ* เช่นเดียวกับเตโชกสิณ)
    ๙). อาโลกกสิณ : กสิณเพ่งแสงสว่าง (ฤทธิ์ที่ได้ เช่น เนรมิตรูปให้มีรัศมีสว่างไสวได้ ทำที่มืดให้เกิดแสงสว่างได้ เป็นกรรมฐานสร้างทิพยจักขุญาณ* โดยตรง)
    ๑๐). อากาสกสิณ : กสิณเพ่งอากาศ (ฤทธิ์ที่ได้ เช่น สามารถอธิษฐานจิตให้เห็นของที่ปกปิดไว้ เหมือนของนั้นวางอยู่ในที่แจ้งได้ สถานที่ใดเป็นที่อับด้วยอากาศ ก็สามารถอธิษฐานให้เกิดความโปร่ง มีอากาศสมบูรณ์เพียงพอแก่ความต้องการได้)
        *ทิพยจักขุญาณ คือ ความรู้ในจุติ (ตาย) และปฏิสนธิ (เกิด) ของสัตว์ทั้งหลาย มีชื่อเรียกอีกชื่อคือ "จุตูปปาตญาณ"

    กสิณ ๑๐ เหล่านี้เป็นเพียงอุบายกลุ่ม ๑ ในกองกรรมฐานทั้ง ๔๐ (ผู้ปฏิบัติต้องเลือกรรมฐานอย่างใดอย่างหนึ่ง ที่เหมาะกับจริตของตนเอง ไม่มีกรรมฐานใด (ในกอง ๔๐) ดีกว่ากรรมฐานใดเลยนะครับ เพราะต้องเลือกให้ตรงกับจริตเฉพาะ ของใครของมัน) เพื่อที่จะให้ "จิต" (ที่มักร่อนเร่ แส่ส่าย ออกไปแสวงหา "กามคุณอารมณ์" ภายนอก ซึ่งเป็นธรรมชาติของจิตอย่างหนึ่ง) ให้กลับเข้ามาสงบนิ่งเป็นสมาธิ อยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เป็นอารมณ์อันเดียว จนสามารถยกระดับของสมาธิได้ถึงระดับ ฌาน และผลพลอยได้ที่ตามมาก็คือ ฤทธิ์ หรือ อภิญญา ๕ (อธิบายไปแล้ว red arrow คลิกอ่านที่นี่) ซึ่งยังคงเป็น "ปุถุชนฤทธิ์" หรือ "โลกียอภิญญา" อยู่นะครับ ตัดกิเลส ตัณหาไม่ได้จริง หรือไม่ก็อาจหลง เห็นว่า "กูเก่งๆ ๆ" กิเลสหนักกว่าเก่าอีก

    ท่านเจ้าคุณนรฯ (ท่านเจ้าคุณนรรัตน์ราชมานิต แห่งวัดเทพศิรินทร์ ฉายา ธมฺมวิตกฺโก ภิกขุ ท่านเคยรับราชการเป็นมหาดเล็กหลวง ที่รับใช้ใกล้ชิดในรัชกาลที่ ๖ ภายหลังจากรัชกาลที่ ๖ เสด็จสวรรคต ท่านได้บวชอุทิศถวายเป็นพระราชกุศล (ภาษาชาวบ้านเรียก "บวชหน้าไฟ") จากเดิมที่ท่านคิดจะบวชเพียงไม่นาน แต่เมื่อท่านได้ศึกษาธรรมะแล้ว กลับรู้สึกพอใจในสมณเพศ จนต้องเลิกรากับคู่หมั้น และไม่สึกอีกเลยจนตลอดชีวิต ในปัจจุบันถือว่า ท่านเป็นพระอริยสงฆ์* ไทย องค์สำคัญองค์หนึ่ง)

        *อริยสงฆ์ คือ "สงฆ์สาวก" อย่างแท้จริง ตามบัญญัติของพระพุทธเจ้า คือมีภูมิธรรมตั้งแต่ พระโสดาบันขึ้นไป จนถึงพระอรหันต์ มิใช่เป็นแต่เพียง "สมมติสงฆ์" (หรือสงฆ์โดยเครื่องแบบ) แบบที่เห็นกันอยู่ดาษดื่นทั่วๆ ไปในปัจจุบัน

(อธิบายนำซะยาวเลยแฮะ ต่อๆ) ท่านเคยกล่าวกับลูกศิษย์ไว้ว่า "กสิณ เป็นกรรมฐานของคนโง่" ที่ท่านเจ้าคุณนรฯ กล่าวไว้อย่างงี้..มีเหตุมีผลนะครับ เพราะคนส่วนใหญ่พอฝึกจนจิตสงบ รวมเป็นสมาธิดีแล้ว มักจะเพลิดเพลินพอใจ ในความสุข และความสงบ ที่ได้จากองค์ฌาน และมักจะไม่เจริญปัญญาต่อ หรืออาจหลงติดใจในฤทธิ์เดชที่ได้ (ซึ่งเป็นของแถม ซ้ำยังเสื่อมได้ง่ายๆ อีกต่างหาก) ประมาณว่า..เล่นเสียเพลินจนลืมเป้าหมายที่แท้จริง สุดท้ายก็ไปไหนไม่รอด ตกม้าตายกลางทาง ถือว่าเป็น "โมฆะบุรุษ" เพราะพลาดจากคุณอันใหญ่ ที่ชาตินี้เกิดมาแล้วได้พบกับพระพุทธศาสนา ซึ่งคำสอนก็ยังบริบูรณ์อยู่ เพราะวิชาเหล่านี้ ถึงไม่มีพระพุทธศาสนา ฤๅษีชีไพร ที่ไหนๆ เค้าก็สามารถสอนและฝึกกันได้อยู่แล้ว

    ครูบาอาจารย์เท่าเคยบรรยายให้ผมฟังว่า "ฤทธิ์ที่เกิดจากการเพ่งกสิณ คือการที่จิตถอด copy ธาตุที่ใช้ในการเพ่ง และแปรรูปไปตามธาตุนั้นๆ" ท่านว่าไม่ใช่ของแปลก มันเป็นเพียงปฏิกิริยาทางฟิสิกส์ (Physics) เพียงแต่ฟิสิกส์ในปัจจุบัน ยังศึกษาไปไม่ถึงเท่านั้น (ท่าจะอีกนานเลยนะ....เอาง่ายๆ ว่า ถ้าเรามองวัตถุใดวัตถุหนึ่ง เช่น ปากกา ก็ได้ เมื่อเราจ้องไปนานๆ จากนั้นพอเราหันศรีษะไปทางอื่น จะมีภาพติดตา (บางทีเรียก "นิมิต") เป็นภาพปากกาลอยได้ อยู่ตรงหน้าเรา แต่การเพ่งกสิณ ไม่ไช่การมองแป๊บๆ แต่ต้องจ้องเป็นเวลานานๆ เป็นพันๆ เป็นหมื่นๆ เป็นแสนๆ ครั้ง อำนาจของนิมิตก็จะรุนแรงตามไปด้วย เอ่อ...ผมเองก็ไม่เคยฝึกนะครับ อาศัยจำจากครูบาอาจารย์มาบอกต่อเท่านั้นครับ)

        *ครูบาอาจารย์ท่านยังเตือนอีกว่า สำหรับคนที่ใช้กสิณเป็นกรรมฐาน ซึ่ง กสิณ ส่วนใหญ่จะใช้วัตถุภายนอกเป็นเครื่องเพ่ง เช่น กสิณไฟ จะเพ่งเปลวเทียน เป็นอารมณ์ เวลาเราเพ่งเปลวไฟ จะทำให้จิตสงบได้จริง (ถ้าถูกกับจริตคุณนะ) แต่..เป็นกรรมฐานที่ส่งจิตออกไปดู (ไฟ) ข้างนอก มักไม่ย้อนกลับเข้ามาดูกายดูใจตัวเอง กรรมฐานแบบนี้มีข้อเสีย (ไม่ค่อยดี) คือ จะทำให้ต่อวิปัสสนาได้ยาก (จะได้แค่สมถะ) ครูบาอาจารย์ท่านจึงแนะนำต่อ..ว่า ควรจะเลือกกรรมฐาน ที่เนื่องด้วยกายด้วยใจเราเองจะดีกว่า (ดูเข้ามาภายใน กาย+ใจ) เช่น ดูท้องพองยุบ ดูลมหายใจเข้าออก ดูความเคลื่นไหว ในอิริยาบทต่างๆ ของร่างกาย เป็นต้น จะทำให้ต่อวิปัสสนาได้ง่ายกว่านะครับ


    ไหนๆ ก็ไหนๆ แล้ว ขออธิบายเรื่องสมาธิเพิ่มเติมอีกหน่อยก็แล้วกัน ก่อนอื่นเราก็ต้องรู้ก่อนนะครับว่า เราทำสมาธิไปเพื่ออะไร.? เป้าหมายของการทำสมาธิก็เพื่อให้ จิตใจเป็นระเบียบเรียบร้อย (ใช้ข่ม นิวรณ์ ๕* ซึ่งทุกตัวเกิดจากการ "หลงคิด" ได้ชั่วคราว) เพื่อเป็นฐานที่สำคัญในการเจริญปัญญาต่อ อย่างที่ผมอธิบายไปแล้วนะครับว่า "จิต" มีปกติแส่ส่าย ร่อนเร่ ออกไปรับรู้อารมณ์ภายนอกอยู่ตลอดเวลา ไม่เคยย้อนกลับเข้ามาดูกาย+ใจ ของตนเองเลย (ธรรมะ คือการศึกษาเรียนรู้ กาย+ใจ ของตนเองตามความเป็นจริง ด้วยจิตที่ตั้งมั่น และเป็นกลาง) เราจึงจำเป็นต้องใช้สมาธิ ในการจัดระเบียบให้จิตเสียก่อน ถึงจะเจริญปัญญาได้สะดวกขึ้นนะ

        *นิวรณ์ ๕ : ประกอบกด้วย ๑). กามฉันทะ : จิตไหลไปในกาม ความยินดีพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส และ ธรรมารมณ์ ๒). พยาบาท : จิตไหลไปในความไม่พอใจ โกรธ เกลียด เศร้า ฯลฯ ๓). ถีนมิทธะ : จิตไหลไปในความหดหู่ เซื่องซึม ๔). อุทธัจจกุกกุจจะ : จิตไหลไปในความฟุ้งซ่าน + รำคาญใจ ๕). วิจิกิจฉา : จิตไหลไปในความลังเลสงสัย ในพระรัตนตรัย เช่น พระพุทธเจ้ามีจริงหรือเปล่า ปฏิบัติธรรมะแล้วจะได้ผลจริงมั้ย พระอริยสงฆ์มีจริงๆ หรือปล่าน้า ฯลฯ

สมาธิ แบ่งออกได้เป็น ๓ ระดับ คือ
๑). ขณิกสมาธิ คือ สมาธิขั้นต้น หรือสมาธิชั่วขณะ แว้บๆ เหมือนฟ้าแลบ
๒). อุปจารสมาธิ คือ สมาธิที่จวนเจียนจะแน่วแน่ (สมาธิที่ยังไม่ดิ่งถึงที่สุด) หรือเฉียดๆ ใกล้ฌาน
๓). อัปปนาสมาธิ คือ สมาธิที่แน่วแน่ (น้อยนิดก็ไม่ส่งออก) อยู่ในฌาน เริ่มตั้งแต่ปฐมฌานขึ้นไป

    ทำอย่างไรให้เกิดสมาธิ.? ครูบาอาจารย์สอนเคล็ด (ไม่) ลับ ไว้ว่า "ความสุขเป็นเหตุใกล้ให้เกิดสมาธิ" เพราะจิตนี่เปรียบๆ ไป ก็เหมือนกับเด็กเล็กๆ นะครับ ที่ชอบวิ่งเล่นซุกซนไม่อยู่กับบ้าน แต่..ถ้าหากเรามีขนมอร่อยๆ (ที่เด็กชอบ) มาล่อ เด็กก็จะหยุด วิ่งมากินขนม ไม่ไปวิ่งเล่น (ชั่วคราว) ละ เพราะฉะนั้นเราแต่ละคน ต้องเลือกเอาเองนะครับว่า จิต ของตัวเราเองนั้น ถูกจริตกับกรรมฐาน (กรรม = การกระทำโดยเจตนา + ฐาน = ที่ตั้ง) ชนิดใด (เหมือนกับขนมแต่ละชนิด ที่เด็กแต่ละคนๆ ก็ชอบไม่เหมือนกันไง) จึงเป็นเหตุให้กรรมฐานมีถึง ๔๐ แบบ (พระอรรถกถาจารย์ ได้รวบรวมกรรมฐานที่ใช้กันบ่อยๆ ไว้ ๔๐ แบบ แต่ที่ใช้กันจริงๆ อาจมีมากกว่านี้) เพราะเหตุที่จริตของแต่ละคนไม่เหมือนกันนั่นเอง ก็..ของใครของมันไงครับ เช่น บางคน แค่ตามรู้ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก จิตก็สงบและ แต่บางคนชอบเดิน (จงกรม) บางคนชอบบริกรรม เช่น พุทโธๆ หรือสวดมนต์ ซึ่งจริงๆ แล้วอะไรก็ได้ครับ เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นเพียง "ขนมล่อ" จิตเท่านั้นเอง แต่...นอกจาก "ความสุข" จะเป็นเหตุใกล้ (ที่สำคัญ) ให้จิตเกิดสมาธิแล้ว จิต (ที่เปรียบเหมือนกับเด็ก) ก็ไม่ชอบถูกบังคับอีกด้วย เพราะฉะนั้นถ้าคุณบังคับ หรือต้องการให้จิตสงบ เร็วๆ คุณจะไม่มีวันสงบเลย

    หลวงพ่อพุธ ฐานิโย แห่งวัดป่าสาละวัน ท่านเคยกล่าวประโยค keyword ที่สำคัญไว้ว่า "สมาธิ เกิด เมื่อหมดความจงใจ - วิปัสสนา เกิด เมื่อหยุดคิด" เพราะความจงใจ หรือการบังคับ เป็นศัตรูของสมาธิครับ หากเราจะเจริญสมาธิให้ได้ดี ต้องมีความเพียรในการทำ แต่ต้องไม่หวังผล คือ ทำตัวสบายๆ เหมือนทำเล่นๆ นั่นแหละครับ

    *สรุปเคล็ดลับสำคัญ (เน้นๆ เลย) ในการทำสมาธิ
        ๑). คุณต้องรู้จักเลือกอารมณ์* ที่ทำแล้วไม่เครียด (เพราะ "ความสุขเป็นเหตุใกล้ให้เกิดสมาธิ" จำได้มั้ยครับ.?)
        ๒). ต้องทำสบายๆ อย่าไปเค้น หรือ พยายามบังคับให้จิตสงบ แต่..ถ้าทำเล่นๆ จะสงบง่าย


    ศึกษากันมาถึงขั้นนี้แล้ว เรามีความจำเป็นต้องรู้อีกนะครับว่า สมาธิ มีอยู่ด้วยกัน ๒ แบบ
    ๑). สมาธิ - สงบ เฉยๆ (ภาษาแขก หรือภาษาบาลี เรียกว่า "อารัมมณูปนิชฌาน") คือ สมาธิที่จิตจมแช่ เพ่ง แนบอยู่ในอารมณ์อันเดียว (*อารมณ์ ในที่นี้หมายถึง สิ่งที่ถูกรู้ด้วยจิตทั้งหมด เช่น รูป-นาม (กาย-ใจ) ตรงกับคำว่า Objective ในภาษาอังกฤษ ไม่ใช่ Emotion นะครับ) สมาธิลักษณะนี้ เป็นสมาธิทั่วๆ ไป ที่ฝึกกันมาได้ก่อนมีพระพุทธศาสนา
    ๒). สมาธิ - ตั้งมั่น (ภาษาแขก เรียกว่า "ลักขณูปนิชฌาน") สมาธิชนิดนี้ จิตจะสงบ + ตั้งมั่น เป็นผู้รู้ ผู้ดู เป็นกลาง และไม่เข้าไปแทรกแซง โดยในสมาธิชนิดนี้ จะมีอารมณ์ผ่านเข้ามา กี่ร้อย กี่พัน แบบก็ได้ (ต่างจากแบบแรก ที่จิตจะจมแช่ นิ่ง เกาะอยู่กับอารมณ์ๆ เดียวเท่านั้น ทำให้ไม่เห็นไตรลักษณ์) สมาธิชนิดนี้ เป็นสมาธิที่สำคัญที่สุด ในการเจริญปัญญา ที่จะทำให้จิตตั้งมั่น เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน จนสามารถเห็นความจริงของ รูป-นาม (กาย+ใจ) คือ "ไตรลักษณ์" (ลักษณะสามัญ ๓ ประการของโลก คือ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวตน) ได้ ซึ่งเป็นสมาธิแบบฉบับเฉพาะตัว ที่ไม่มีสอนในศาสนาอื่น นอกจากศาสนาพุทธ

    เอาล่ะครับ ฝอยมากน้ำลายแตกฟอง (เดี๋ยวจะเบื่อกันซะก่อน) เอาเป็นว่า ถ้าจะทำสมาธิ ก็ต้องรู้ว่า อะไรเป็นเหตุใกล้ให้เกิดสมาธิ รู้จักเลือกกรรมฐานให้ตรงกับจริตของตัวเอง และสมาธินั้นมีอยู่ ๒ แบบ ถ้าคุณสามารถทำสมาธิแบบสงบได้แล้ว (แบบแรก) อย่าลืมต่อยอดให้เกิด สมาธิแบบตั้งมั่น (แบบที่ ๒) ด้วยนะครับ และอย่าลืมอีกว่า เป้าหมายของศาสานาพุทธ ไม่ใช่มุ่งเพื่อ เอาดี เอาสุข เอาสงบ (นั่นเป็นเป้าหมายทางโลก) แต่..ที่เราปฏิบัติธรรม ก็เพื่อต้องการเรียนรู้ เพื่อมุ่งค้นหาความจริง เผชิญหน้ากับความจริง ไม่ใช่หนีมัน ซึ่งความจริงที่ว่า..ก็คือ "ความทุกข์" ไงครับ ถ้าหากเมื่อไหร่เรารู้ทุกข์จนถึงที่สุด เราก็จะละทุกข์ได้สำเร็จ (จริงๆ ไม่ได้ละหรอกครับ พอปัญญามันแก่รอบจริงๆ มันก็จะสลัดทิ้งของมันเองเลย) จากนั้น ความดี ความสุข ความสงบ ซึ่งเป็นผลพลอยได้ ก็จะตามมาเองครับ


    ใครสนใจเรื่อง "กสิณ" เพิ่มเติม ผมแนะนำให้อ่านบทความของ พระอัครกิตติ์ ธมฺมสโร (วัดราชสิทธาราม ราชวรวิหาร ฝั่งธนบุรี เขตบางกอกใหญ่ กทม.) ใน Blog บินเดี่ยว : การผจญภัยในผ้าเหลือง ผมเอง..อ่านแล้วยังชอบใจเลยครับ เพราะท่านเขียนด้วยสำนวนสนุก เฮๆ กันเอง มุกแยะ อ่านง่ายดีครับ red arrow คลิกที่นี่เลย
    ยาว โค-ตะ-ระ มากแล้ว ขอจบก่อนนะครับ ขอให้กฤษณ์วาดเล่นๆ ให้สนุกครับ (๑๒ พ.ค. ๒๕๕๔)
 
 

Kris's drawing
 


 


 
Histats.com, Created : 7 Dec.2010
   
  Create and Maintained by JitdraThanee Copyright © 2008-2014 by JitdraThanee.com, All Rights Reserved. Best viewed 1280x800 pixels.